การฝึก โยคะ ในสมัยนี้มีอยู่ 2 มุมมองที่อาจจะแตกต่างกัน
คือการฝึกแบบ เอาผลลัพธ์ภายนอกเป็นตัวตั้ง
หมายความว่า เราทำอาสนะเพื่อให้อะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องภายนอกเกิดขึ้นกับตัวเรา
ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรงมากขึ้นเพียงอย่างเดียว การทำแบบทัดเทียมคนอื่น
การถูกมอง การถูกยอมรับจากคนในคลาส การอยากมีความเก่งมากขึ้น
โดยมีความจำเป็นที่จะทำอาสนะให้เกิดความพึงพอใจ ประทับใจ
ตามกระแสของความอยากของเราเอง
ซึ่งตัวผู้ฝึกอาจจะถูกการฝึกแบบนี้หล่อหลอมมาจาก เพื่อนรอบข้างที่สามารถได้มากกว่าเรา
ตัวคุณครูที่เป็นแบบอย่างแล้วเราอยากจะเป็นเหมือนคุณครู หรืออาจะเป็นตัวเราเองที่มีความอยากบางอย่างอยู่
หรือแม้แต่ สังคม สื่อข่าวสาร ที่ออกมา
จนทำให้เราเห็นว่า โยคะ คือการทำเพื่อนให้ได้อะไรบางอย่างแบบภายนอกเท่านั้น
การฝึกอีกแบบคือ
ฝึกแบบ ส่งใจดูภายใน
คือทำอาสนะเพื่อให้เท่าทันตัวเอง
ทำท่าทางต่าง ๆ เป็นไปเพื่อรู้จักตัวเอง
เห็นจุดด้อย จุดเด่น รู้อารมณ์ตัวเอง
ฝึกไปแล้วเกิดอาการปล่อยวาง
วางจากกระแสความอยากในใจลงเรื่อย ๆ
โดยการฝึกแบบนี้นั้นจะเป็นการฝึกแบบมีหลักการตามตำราของโยคะกำกับไว้
เน้นการประยุกต์หรือผสมไปกับศาสตร์อื่น ๆ น้อยหน่อย ไม่ได้ฝึกเพื่อปรารถนาทางความท้าทายร่างกาย
แต่เป็นไปเพื่อเรียนรู้ร่างกาย ปรับแต่ง สมดุล ของตนเอง และเข้าถึงภายใน
ทั้งสองมุมมองกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่ในตัว
และทั้งสองนี้ก็มีความก้าวหน้าให้เห็นเป็นระยะ ๆ
โดยที่ผู้ฝึกก็จะพบระดับของการก้าวเดินของตัวเองดีขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ทั้งสองฝั่งนั้นเป้าหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง
ด้านนึงต้องการเอาชนะเรียนรู้ความสามารถขีดจำกัดของร่างกาย เป็นไปเพื่อเรื่องภายนอกและความต้องการเฉพาะตน
อีกด้านนึงต้องการเอาชนะเรียนรู้ความสามารถของทางจิตใจ เป็นไปเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณภายใน
ไม่มีผิด ไม่มีถูก ในการฝึกทั้งสองมุมมอง
เพียงแต่เราจะเอาอะไรจาก โยคะ มานำชีวิตเรากัน
ก็เท่านั้นเอง
จะฝึกทั้งสองแบบเลยก็ได้
ทั้งสองมุมนี้กำลังเดินทางในโยคะทั้งคู่
แต่คนละฝั่งของเป้าหมายที่กำลังเดิน
ฝึกต่อไป ฝึกทุกมุมมอง แล้วเราจะพบมุมของเราเอง
ฝึกถูก วางใจให้ถูก เหมาะต่อวิถีของเราครับ